Google
 

01 พฤษภาคม 2553

ล่องโขงสู่หลวงพระบาง ๕ เที่ยววัด เวียง วัง

ล่องโขงสู่หลวงพระบาง ๕ เที่ยววัด เวียง วัง

๑๔ เมษายน ๒๕๕๓

วันนี้เรามีแผนการท่องเที่ยวและกิจกรรมเยอะหน่อย นับตั้งแต่เช้า ที่มีการตักบาตรข้าวเหนียว เดินตลาดเช้า แล้วเราก็จะเริ่มด้วยการเที่ยวชมวัดต่าง ๆ หลังจากรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้วเราก็ออกเดินทางไปวัดเชียงทอง ก็เป็นบริเวณเดียวกับที่ไปใส่บาตรเมื่อเช้า เพราะเมืองไม่ได้กว้างใหญ่นัก

วัดเชียงทองถูกสร้างขึ้นเมื่อราว ๕๐๐ ปีก่อน มีสถานที่เก็บพระราชรถที่ทำด้วยไม้ปิดทอง และนอกจากนี้ก็จะมีพระวิหารที่งดงาม ด้านหลังมีกุฏิเล็ก ๆ ภายในมีพระพุทธรูป ในที่นี้ มีของสำหรับเสี่ยงทาย นั่นคือ มีพระพุทธรูปองค์เล็กหน้าตักประมาณ ๑๐ นิ้ว ทำด้วยโลหะ หากอธิษฐานแล้วสำเร็จผล จะสามารถยกขึ้น แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนั้น ก็จะยกไม่ขึ้น ผมก็เลยลองไปยกดู ยกได้ครับ ยังสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่า ผู้ที่มีแรงมาก ย่อมยกได้เป็นเรื่องปกติหรือเปล่า แต่มีผู้สังเกตุการอยู่ในนั้นจำนวนหนึ่ง เหมือนคอยเชียร์ หรือคอยชมก็ไม่ทราบ เพราะคอยจ้องดูผู้คนที่เข้ามาเสี่ยงทาย

อีกหลังหนึ่งเป็นเรือนเล็กพอประมาณ ประตูถูกปิดไว้ แต่เจาะรูเล็ก ๆ เท่ากับตามองเห็น แต่ก่อนเป็นการทำนายเกี่ยวกับฝนฟ้า มีพระพุทธรูปอยู่ข้างใน น้องลูกสาวพี่วิทูรย์เจ้าของและหัวหน้าทัวร์ เดินไปถ้ำมองดูก่อน ผมก็ยืนรออยู่ ไกด์คนหนึ่งก็บอกว่า ให้นับดูว่ามีพระพุทธรูปกี่องค์ เธอเริ่มเอาตาส่อง และเลื่อนไป แล้วก็ร้องเสียงดัง ท่าทางสะดุ้งตื่นตกใจ ผมเลยถามว่า เป็นอะไร น้องบอกว่า เปล่า พอดีเหลือบไปเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่เลยตกใจ ผมก็เลยทอดสายตาดูบ้าง นับได้พระพุทธรูป ๔ องค์ ไกด์บอกว่า แต่ก่อนมี ๗ องค์ ป้อมบอกว่า นี่แหละ เป็นที่มาของคำว่า “วัดสายตา” เออ คิดได้ยังไง

หลังจากนี้ เราก็มุ่งหน้าไปยังพระราชวัง ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกล ในสถานที่นี้ ห้ามถ่ายรูปเด็ดขาด จึงต้องฝากสิ่งของและกล้องไว้กับทีม งาน ในพระราชวังแบ่งเป็นห้อง ๆ ได้แก่ ห้องรับแขก ห้องบรรทม ห้องเสวย มีห้องแสดงของที่ระลึกที่ประเทศต่าง ๆ นำมาถวาย รวมถึงของไทยด้วย มีห้องจัดแสดงพระพุทธรูปต่าง ๆ ทั้งที่ทำด้วยไม้ โลหะ และทองคำ

พี่วิทูรย์ผู้บุกเบิกทัวร์หลวงพระบางมากว่า ๑๐ ปี ตอนอยู่ในเรือ พี่เขาบอกว่า ทั่วหลวงพระบางนี้มีคนรู้จักเยอะ ถ้าไปหลงที่ไหน ก็ให้บอกว่ามากับ อ้ายวิทูรย์ รับรองสบายมาก

บทพิสูจน์คำกล่าวของอ้ายวิทูรย์นี่เริ่มตั้งแต่เราขึ้นเรือ เมื่อมาถึงหลวงพระบางวัดแรก ระหว่างที่ขนสำภาระออกจากเรือและเดินขึ้น ฝั่ง มีไกด์สาวที่รออยู่คนหนึ่ง เดินมาพร้อมร้องถามป้าสองคนที่เดินนำ หน้าไปก่อนว่า “มากับไกด์ที่ชื่อจ๊ะหรือเปล่าคะ มากรุ๊ปเดียวกันไหม” ป้า ที่ลากประเป๋าอยู่หน้าสุด ไหนจะเหนื่อยขึ้นฝั่งอีก มองหน้ากันเลิกลั่ก พร้อมกับตอบไปว่า

“มากับทัวร์คุณวิทูรย์ค่ะ”

“วิทูรย์ไหนคะ..มีคนชื่อจ๊ะไหม” ผมเดินตามาติด ๆ อดขำไม่ได้ นี่ยังไม่ทันเข้าหลวงพระบางเลยนะครับพี่วิทูรย์

ก่อนเดินมาราชวัง ระหว่างทางที่เดิน ป้อมมองเห็นร้านกาแฟ ขานี้อดไม่ได้ที่จะต้องลองดูว่า เอสเปรสโซ่ ของที่หลวงพระบางจะเป็นอย่างไร สนนราคา สิบพันกีบ ครับ หรือ หนึ่งหมื่นกีบนั่นเอง เท่ากับกี่บาทครับ ได้เล่าแล้วในตอนที่ ๒ ส่วนผมอยากลอง มอคค่าดู ราคา สิบสองพันกีบ แพงกว่านิดหน่อย แต่ต่อแล้วได้ราคาเท่ากัน แต่รสชาติไม่ประทับใจป้อมเป็นอ ย่างยิ่ง

ใครที่จำป้อมไม่ได้ หรือไม่ได้อ่านเรื่องวีรก รรมของป้อม รบกวนแวะเข้าไปในตอน ผีอุ้มผางนะครับ แต่มาคราวนี้หวังว่าคงไม่ได้เจอผีลาวหรอกนะป้อม

ตรงข้ามกับพระราชวัง ก็คือ พูสี ต้องขึ้นเขาไป เพราะเป็นพระธาตุอยู่ แต่เดิมว่ากันว่าเป็นที่ของฤาษีอาศัยอยู่ ถนนหน้าวังก็คือ ตลาดมืดนั่นเอง

ในตอนนี้เราจะมีกลุ่มที่จะขึ้นเขา และไม่ขึ้น เพราะบางท่านเคยมาแล้ว อีกอย่างอากาศร้อน บางท่านก็ไม่อยากเดิน แต่ผมมาแล้วก็ต้องไปทุกที่เท่าที่แรงมี มัวแต่ไปแวะพระ ที่นั่งในวัง ที่เขาอนุญาตให้ถ่ายรูปได้ กลัวไปไม่ทัน เลยรีบเดินขึ้นบันได เมื่อไปถึงกลางทาง ก็เจอเจ้าของที่ ป้าคนหนึ่ง ยืนถือร่มเป็นสง่าตรงบันได พร้อมกับตะโกนขึ้นว่า

“ตรวจปี้ด้วย มีปี้กันหรือยัง..” ผมก็เดินมาถึงตรงนี้ มองหาพรรคพวก ยังไม่มีใครเลยสักคนเดียว ไกด์ก็ไม่เห็นแวว เลยต้องหยุดตรงป้าคนนี้ ป้าก็ถามขึ้นว่า “มีปี้หรือยัง” ก็พอเดาได้ว่าเขา หมายถึงอะไร .ไม่ต้องงงครับว่าปี้อะไร แปลว่าตั๋ว ครับ

“ไม่มีครับ”

“ไปซื้อที่ตรงโน้น”

“อ๋อผมมากับทัวร์ครับ”

“ทัวร์ผู้ได๋”

“ทัวร์อ้ายวิทูรย์ครับ” ป้าทำหน้างง ๆ วิทูรย์ไหน เอาละสิ ไหนว่าคนทั้งหลวงพระบางรู้จักไงครับ พี่วิทูรย์ กรรมจริง ๆ

พอดีมีไกด์ชาวลาวสาวสวย เธอสวยจริง ๆ ยืนอยู่ตรงที่ขายตั๋ว เธอเอิ้นบอกป้าว่า “เพิ่นมากับไกด์ อ้ายอิหยังเก๊าะ...” อ้าว เธอลืมชื่อไกด์ลาวประจำกรุ๊ปของผม ผมเองก็ไม่ค่อยจำว่าลุงแกชื่ออะไร แหม...ขอแสดงความคิดเห็นหน่อยนะ ครับพี่วิทูรย์ นอกจากป้าคนนี้ไม่รู้จักพี่วิทูรย์แล้ว ทำไมไกด์กรุ๊ปอื่นเขาเป็นสาวสวย แต่ของเราถึงเป็นแบบนี้ละ เอาเถอะๆ

ผมก็แก้สถานการณ์ว่า ยืนเป็นคนช่วยป้าตรวจตั๋วไป ซะเลย “ใครไม่มีปี้ไปซื้อก่อนนะครับ” ป้าแกก็งงว่า หมอนี่จะมามุกไหน สักพักไกด์ลาวของเราก็เดินขึ้นมา “นี่ไงครับไกด์ผม”

“เจ้าซื่ออิหยัง”

“เอกสิทธิ์”

“อ๋อ อภิสิทธิ์เหรอ” ผมได้ยินไม่ถนัด “งั้นก็เป็นนายกได้สิ” ยังจะไปเล่นมุกอีก แล้วเราก็รอดพ้นด่านนี้ไปได้ ผ่านขึ้นไปบนยอดเขา ได้เห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำคานด้านตะวันตก เห็นตัวเมืองด้วย แต่ควันเยอะไปหน่อย ทำให้ได้ภาพไม่สวย สักพักแล้วเราก็เดินลงมา เพราะได้เวลาอาหารเที่ยงแล้ว

มีกลุ่มหนึ่งที่ล่วงหน้าไปทางร้านอาหารก่อน พวกผมก็เดินตามไป แต่ลงเขามาก็หิวน้ำ หิวของกินอื่น ๆ ภรรยาเลยไปซื้อมะม่วงเปรี้ยวมา ราคาลูกละ ๓,๐๐๐ กีบ ที่แพงอย่างนี้เพราะเอามาจากเมืองไทย กินไปก็บ่นไป ว่าทำไมไม่ปลูกเอง เจอใครก็บ่น จนป้าคนลาวคนหนึ่ง เขาก็เลยตอบว่า ที่ไม่ปลูกเองเพราะ “ปลูกไม่เป็น” เอาละสิมีคู่สนทนาแล้ว

“ปลูกไม่เป็นยังไง แค่เอาเม็ดมันฝังดิน แล้วก็รดน้ำใส่ปุ๋ย” ผมต้องเบรกเธอแทบไม่ทัน ที่เขาบอกว่าปลูกไม่เป็นนั้น ภาษาลาวเขาแปลว่า มันปลูกไม่ขึ้น จะด้วยดินฟ้าอากาศอะไรก็แล้วแต่ มันไม่เหมาะกับการปลูกมะม่วงก็แล้วกัน เฮ้อ ไม่ใช่เขาไม่ปลูก

ภาษาลาวนี่จะมีความหมายลึก ๆ หรือแบบว่าคนละความหมายกับภาษาไทยเยอะ เช่น สมัยที่มีการสร้างสะพานเชื่อมแม่น้ำโขง ต่างฝ่ายต่างสร้างมาประจบกันตรง กลาง แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเชื่อมสะพานเข้าด้วยกัน ทางการไทย จึงส่งจดหมายถึงทางการลาวให้ “ชลอโครงการไว้ก่อน” ทางการลาวก็โกรธมาก สร้างมาจนจะเสร็จแล้ว เหลือไม่ถึงศอก จะมา “ชลอ” ได้อย่างไร ก็คำนี้มันแปลว่า “รื้อ” สร้างมาจนจะเสร็จแล้วทางการไทยจะให้ “รื้อทิ้ง” เป็นใครก็เคียดเด้

ตอนเที่ยงเราแวะรับประทานอาหารที่ร้าน ปากห้วยมีไชย ไม่กี่ยวกับถุงยางมีชัยบ้านเรานะครับ อาหารที่นี่รสชาติดี มีลาบหมูกับสลัดผักกาดน้ำเช่นเคย แต่มีทีมงานของเราหลงกันอยู่ ๓ คน ไม่อยากจะบอกว่าหนึ่งในนั้น มีไกด์รวมอยู่ด้วยหนึ่งคน พอมาถึงทำเป็นเนียนว่าแวะไปซื้อส้มตำ

บ่ายเราไปแวะที่วัดวิชุน ซึ่งมีพระวิหารหมากโม หรือ พระธาตุแตงโม ที่น่าสังเกตุคือ วัดต่าง ๆ ของหลวงพระบางนั้น จะสร้างขึ้นตามแบบช่างธรรมดา และเป็นแบบศิลปะของหลวงพระบาง เป็นไปตามแบบธรรมชาติ หรือจะด้วยต้นทุนในการก่อสร้าง บางแห่งใช้โครงไม้ไผ่ แต่ในวัด ในวิหาร จะเต็มไปด้วยพระพุทธรูป ทั้งโลหะ หรือไม้แกะสลัก ซึ่งคาดว่าในสมัยก่อนคงเป็นวัสดุที่หาง่าย และทำง่ายกว่าการหล่อโลหะ

ช่วงบ่าย ทีมงานของเรา “ปล่อย” ให้ไปผจญภัยกันเองในหลวงพระบาง สำหรับการก่อเจดีย์ทรายกลางดอนแม่น้ำ โขง ซึ่งจะเล่าในตอนนี้ก็ยาวเกินไป ติดตามตอนต่อไปนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: