Google
 

01 พฤษภาคม 2553

เวียงจันทน์-วังเวียง (ตอนที่ 3 ถ้ำจัง)






บรรยากาศ ยามค่ำคืนในวังเวียง

เราเสร็จกิจกรรมล่องเรือ ลำน้ำซองก็ค่ำ เข้าที่พักอาบน้ำให้สบายตัวแล้วจึงออกไปจัดการ อาหารมื้อเย็น ร้านที่เหมาไว้อยู่ไม่ไกลจากที่พักเป็นย่านที่นักท่อง เที่ยวกันมารวมตัวกันในยามค่ำ บรรดาฝรั่งตาน้ำข้าวก็จะรวมตัวกัน อยู่แถวนี้ ซึ่งมีทั้งร้านอาหาร ร้านเหล้า ร้านอินเทอร์เน็ท ร้านนวด แต่หากเทียบกับปายบ้านเราแล้ว ปายพลุกพล่านกว่าเยอะ

ออกจากร้านอาหารผมเดินเล่นไปตามถนนกลับที่พัก ตั้งใจจะหาร้านบรรยากาศดีๆ นั่งจิบ"เบยลาว" กับเพื่อนๆ ไม่เจอร้านถูกใจเลยกลับไปอาศัยม้านั่งว่างๆ ในร้านอาหารของรีสอร์ทที่พัก(ซึ่งตอนนั้นปิดบริการแล้ว) พวกเรานั่งคุยฮาเฮกันนานทีเดียว จนกระทั่งเสบียงที่ซื้อใส่ถุงมา คนละสี่ห้ากระป๋องเริ่มพร่องจึงพากันแยกย้าย เป็นอีกคืนหนึ่งที่ผมรู้สึกรื่นรมย์ในดินแดนแห่งล้านช้าง

เช้าอันสดใสริมลำน้ำซอง มีหมอกลงเป็นม่านบางๆ ขวางกั้นเขาหินปูนซึ่งตั้งตระหง่าน อยู่ฝั่งตรงข้ามมองเห็นเป็นฉากสวย ใครมีกล้องจึงคว้าออกมาเก็บภาพ ประทับใจ เสร็จแล้วก็กลับมานั่งกินข้าวต้มมื้อเช้าร้อนๆ พร้อมกับมองทิวทัศน์ของสายน้ำและขุนเขาไปเพลินๆ เป็นบรรยากาศมื้อเช้าที่วิเศษอีกมื้อหนึ่ง


บรรยากาศ ยามเช้า




รีสอร์ท ที่พัก

ถ้ำจัง
ออกจากที่พักก็สายโด่ง ก่อนกลับเมืองไทยเราจะไปเที่ยวถ้ำ จังกันก่อน แรกได้ยินผมนึกว่าถ้ำนี้อยู่แดนกิมจิอารีดัง ถามน้องแล่ไกด์สาวเพื่อความมั่นใจ น้องเค้าก็บอกว่า”ถ้ำจัง” แม่นแล้วค่ะพี่ ฟังบ่ผิดดอก

ถ้ำจังอยู่ห่างจากที่พักไปสักหนึ่งกิโลเมตร จอดรถแล้วเดินข้ามสะพาน”ส้ม” แล้วเดินตามลำนำซองไปอีกหนึ่งเมื่อย จากนั้นเดินขึ้นบันไดอีก(แค่) 147 ขั้น ก็ถึงปากถ้ำ เดินเข้าถ้ำไปนิดเดียวจะมีแยกซ้ายขวาด้านซ้ายลักษณะเป็นโถงกว้างยาว ราวกับเคยมีหนอนยักษ์มาไชไว้ จินตนาการของเด็กบางคนอาจเป็นเช่น นั้น แต่เปล่าหรอกกระบวนการเกิดถ้ำของเขาหินปูนนั้นเกิดจากกระบวน การทางเคมีของน้ำที่ไหลลงไปกัดเซาะกับหินปูนจนเกิดเป็นโพลงมา ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ก่อนที่มันจะถูกบีบและดันตามการเคลื่อนตัวเบียดกันของ เปลือกโลกดันให้ขึ้นมาเป็นภูเขา หินปูนที่เห็นนั้นก็คือแผ่นพื้นใต้ สมุทรมาแต่บรรพกาลก่อนหน้านั้น

พื้นล่างของถ้ำถูกลาดเป็นทางซีเมนต์ให้เดินสะดวก มองไปจนสุดทางด้านซ้ายจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ พวกเราเลือกเดินไปทางขวากันก่อน เดินขึ้นลงตามซอกโพลงชมถ้ำที่ประดับ ไฟไว้พองาม เดินไปสักร้อยเมตรก็สุดทาง แล้วจึงย้อนกลับเดินทะลุไปด้านซ้าย ของปากทางเข้าถ้ำเพื่อไปชมทิวทัศน์ที่เห็นเป็นแสงสว่างอยู่ปลาย ทาง ปลายถ้ำด้านนี้จะเป็นจุดชมวิวมองเห็นทิวทัศน์กว้างของวังเวียง ที่มีทั้งท้องทุ่ง ทิวเขาและสายน้ำ


น้อง แล่ (แหล่)คนซ้ายไกด์สาวลาวของกรุ๊ฟทัวร์เรา ขณะเดินข้ามสะพานส้ม


ทางขึ้นสู่ถ้ำจัง

ชมเขาหิน ปูน...ครุ่นคิดถึง"จู๋เต้น"

เสร็จจาก ชมถ้ำผมเดินลงมาช้าๆ ชมเขาหินปูนไปพร้อมกับกวาดสายตาหานกเผื่อจะเจอ บ้าง บอกตามตรงครับว่าที่เมืองลาวค่อนข้างจะหานกดูยากแม้จะเป็นนกบ้านนก สวนทั่วไปก็ตาม อาจเพราะชาวบ้านที่นี่ยังมีนิสัยการล่าสัตว์อยู่ สังเกตุจากการเคยเดินตลาดที่หลวงพระบาง ยังเห็นมีสัตว์ป่าที่ถูกล่านำ มาวางขาย รัฐบาลลาวอาจยังขาดเจ้าหน้าที่ที่จะทำการดูแลได้ทั่วถึง หรืออาจยังไม่มีนโยบายเข้มงวดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเองก็ไม่แน่ใจ


ชมความงามของเขาหินปูนเพลินๆ ก้าวเท้าไปไม่รีบเร่ง เห็นเขาหินปูนที่นี่แล้วก็อดนึกถึงนกจู๋เต้นเขาหินปูนที่เคยไปดู ที่วัดพระบาทน้อยไม่ได้ ตัวนั้นเป็นชยิดย่อย N.c. calcicola ที่พบได้เฉพาะที่เขาปูนแถบๆ สระบุรีและใกล้เคียง ถ้าเกิดเห็นนกจู๋เต้นเขาปูนมาเกาะหินให้เห็นที่นี่ก็น่าจะเป็น ชนิดย่อย N.c.annammensis ซึ่งจะพบทางตอนเหนือของลาวและเวียดนามเลย ขึ้นไปถึงทางตอนใต้ของยูนนานด้วย แต่ความจริงก็คือที่นี่นกเงียบมาก ทั้งที่เร็วๆนี้สปป.ลาวเองก็มีเรื่องตื่นเต้นในแวดวงปักษีวิทยา ของโลกด้วยการค้นพบนกชนิดใหม่ในเวียดนามและลาวถึงสองชนิดคือนกกระ จิ๊ดเขาปูน และนกปรอดหน้าเกลี้ยง (อ่านเรื่องราวของนกทั้งสองซึ่งเขียน โดย คุณRJ แห่งเว็บเอเบิร์ดวอทช์ได้ ที่นี่ ครับ)

ผมเดิน ลงมาช้าๆ จากด้านบนมองเห็นคณะทัวร์ของเราเดินเป็นแถวไปไกลแล้ว เห็นเป็นจุดเล็กๆ เคลื่อนไปตามทางเดินมองดูราวกลับฝูงมด เป็นฝูงมดที่กำลังเคลื่อนตัวไปขึ้นรถเพื่อเดินทางกลับเมืองไทย นึกแล้วก็ใจหายยังเที่ยวไม่จุใจสักเท่าไร คงได้แต่เก็บความคิดถึงเมืองลาว ไว้เป็นแรงกระตุ้นให้อยากมาเยือนในโอกาสต่อไป เชื่อเถอะครับว่าผมจะย้อนกลับมา "สบายดีเมืองลาว" อีก...อย่างแน่นอน

-----------------------------------The End----------------------------------












เขา หินปูนที่วังเวียง


ภาพของนกจู๋เต้นเขาหินปูน
ชนิดย่อยสระบุรี N.c. calciola พบครั้งแรกโดย Deignan ,1939
หากพบที่เขาหินปูนแถบวังเวียงซึ่งอยู่ภาคเหนือตอน ล่างของลาวน่าจะเป็นชนิดย่อยN.c.annammensis อ้างอิงตาม Checklist of the birds of the world ,Howard and Moore,2003

ไม่มีความคิดเห็น: