| | ถ้าจะมีการจัดอันดับหนังดีที่ผมได้ดู มาตั้งแต่ต้นปี Chloe ย่อมติดอยู่ใน 5 เรื่องแรกแน่ๆ นอนๆ แต่ทว่าก่อนที่จะไปพูดถึงหนังเรื่องนี้ มันมีเรื่องบางเรื่องที่ผมคิดว่าน่าหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเพื่อแลก เปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นกันเล็กน้อย ครับ, สำหรับใครก็ตามที่เกาะติดก้าวตามความเคลื่อน ไหวในวงการหนังมาอย่างต่อเนื่อง คงจะเห็นว่า แวดวงหนังบ้านเรานั้นได้นำ เอาระบบการจัดเรตหรือเรตติ้งมาใช้ได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งคนที่เข้าไปดูหนังโรงเป็นประจำ จะพบว่า ก่อนหนังทุกเรื่องเริ่มฉาย จะมีการขึ้นคำแนะนำระบุอายุของผู้ชมว่า “เหมาะสม” ที่จะชมหนังเรื่องนั้นๆ หรือไม่ ย้ำนะครับว่า นั่นเป็นเพียง “คำแนะนำ” ไม่ได้ถือเป็น “ข้อห้าม” แต่อย่างใด ดังนั้น อย่าแปลกใจ ถ้าคุณเห็นน้องๆ วัยมัธยมเข้าไปชมหนังอย่างนาคปรกหรือ A Serious Man ที่แปะเรต 18+ และที่ผ่านๆ มา การจัดเรตในภาพรวม ก็ดูจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีสิ่งที่ไม่เคลียร์อยู่บางประการ ถ้าไม่นับรวมเรื่อง “การขึ้นคำเตือน” ในหลายๆ ฉากของนาคปรก (เช่น “การสักยันต์ไม่ใช่กิจที่สงฆ์พึงกระทำ” ฯลฯ) ซึ่งหลายๆ คนมองว่ามันเท่ากับเป็นการปิดกั้น “การตีความ” ของคนดูผู้ชมที่สามารถนำมาวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมี “ถ้อยคำสำเร็จรูป” แบบนั้นคอยบอกกล่าว...สิ่งที่เกิดขึ้นกับหนังอย่าง It’s Complicated ก็เป็นอะไรที่น่าคิดไม่น้อยไปกว่ากัน บอกกล่าวเล่าความอย่างสั้นๆ ครับว่า หนังเรื่องนี้ ทีแรกได้เรต “ฉ 20-” (ซึ่งหมายถึง ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู) และเรต “ฉ 20-” นี้จัดเป็นเรตที่ 6 ซึ่งถ้ายกระดับขึ้นไปอีกนิด คือเรตที่ 7 มันจะกลายเป็น “หนังที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร” ไปทันที ทั้งนี้ เหตุผลที่ It’s Complicated ได้เรตสูงขนาดนั้น ก็เพราะว่ามันมีฉากที่ตัวละครในเรื่อง “เสพกัญชา” กัน แต่ค่ายหนังที่นำมาจำหน่ายในบ้านเรายินดีที่จะตัดฉากดังกล่าวซึ่ง กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ในเรื่องออกไป รวมทั้งหมดประมาณ 30 วินาที เพื่อให้ตัวเองได้เข้าฉายในเรต 18+ คำถามก็คือ แล้วหนังอย่าง A Serious Man ซึ่งมีฉากเด็กวัยรุ่นปุ๊นกัญชา อยู่หลายครั้ง แต่ทำไม กลับได้เรต 18+ ตั้งแต่ต้น?? ใช่ หรือไม่ว่า นี่คือความสับสนและลักลั่นในการจัดเรตหนังของบ้านเรา? โดยส่วนตัว ผมคงไม่อาจไปบอกใครได้ว่า ต้องทำแบบนั้นแบบนี้ แต่ก็นั่นแหละ ถ้าอะไรๆ มันยังเป็นอยู่เช่นนี้และเช่นนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าพจนานุกรมไทยจะมีคำ ว่า “มาตรฐาน” ไว้ทำอะไร? ไม่ว่าจะยังไง ในขณะที่มาตรฐานการจัดเรตยังดูมึนๆ งงๆ อยู่นั้น ผมว่าด้านที่ดีของมันก็มีอยู่ อย่างน้อยที่สุด เรื่องของการ “ตัด-บัง-เบลอ” ก็ดูจะเบาบางลงไปบ้างแล้ว เพราะถ้าไม่อย่างนั้น หนังอย่าง Chloe คงไม่ “หลุดรอด” ออกมาให้เราเห็นเช่นนั้นแน่นอน เนื่องเพราะฉากร่วมรักอันร้อนแรงระหว่างเพศเดียว กัน รวมไปถึงความกล้าได้กล้าเสียแบบไม่หวงเนื้อหวงตัวของดารา สาวอย่าง “อแมนดา ไซฟรี้ด”...โคลอี้ (Chloe) ผ่านเข้าฉายในเรต 18+ นี่คือผลงานการกำกับของ “อะตอม อีโกยัน” ซึ่งอาจจะไม่คุ้นหูคนดูหนังใน วงกว้างของบ้านเรา เพราะนอกเหนือไปจาก Where the Truth Lies ที่มีโอกาสได้มาเข้าฉายให้คนไทยได้ดูนั้น งานที่เหลืออีกนับสิบเรื่องของ อีโกยันก็แทบจะเรียกได้ว่าอยู่ห่างไกลจากสายตามวลชนคนดูหนังส่วน ใหญ่ไปเลย “โคลอี้” เป็นผลงานรีเมกจากหนังเรื่อง Nathalie ของ “อานน์ ฟงแตง” ผู้กำกับชาวฝรั่งเศสที่เพิ่งมีหนังเรื่อง Coco Before Chanel เข้าฉายในบ้านเราเมื่อเร็วๆ นี้ เนื้อเรื่องนั้นเล่าถึง “แคทเธอรีน” (จูลีแอนน์ มัวร์) คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งกำลังสงสัยในความซื่อสัตย์ของ สามี (เดวิด รับบทโดย เลียม นีสัน) เธอจึงว่าจ้างนางบำเรอคนหนึ่งให้ เข้าไปทำเป็นตีสนิทและยั่วยวนเดวิดเพื่อพิสูจน์ว่าเขาจะมี พฤติกรรมนอกใจเธอจริงหรือไม่ และที่สำคัญ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวัน หญิงบำเรอคนนั้นจะต้องกลับมารายงานให้ แคทเธอรีนฟังด้วยว่าภารกิจลุล่วงไปถึงขั้นไหนแล้ว ฟังจากพล็อตเรื่อง ดูๆ ไปก็ไม่ต่างจากนิยายสืบสวนซึ่งแม่ บ้านสักคนว่าจ้างนักสืบให้ตามจับผิดสามี หลังจากเห็นพฤติกรรมน่าสงสัย อย่างไรก็ดี ถ้าอะไรๆ มันเรียบง่ายแค่นั้นก็คงไร้ปัญหา เหมือนจับโจรได้ก็เป็นอันจบกัน แต่ที่มันไม่ง่ายก็เพราะว่า...“คนบางคน รู้หน้าไม่รู้ใจ” อย่างที่เขาว่าไว้จริงๆ... นอกเหนือไปจากบทภาพยนตร์ที่ซ่อนปมได้ลึกลับซับซ้อน และชวนค้นหา ผมคิดว่า สิ่งที่เป็นหน้าเป็นตาให้กับงานชิ้นนี้มากๆ เลย ก็คงหนีไม่พ้นนักแสดงสาวอย่าง “อแมนดา ไซฟรี้ด” จากเด็กสาวที่เคยดูสดใสใน Mamma Mia! หรือดูอ่อนหวานใน Dear John เธอพลิกตัวเองมาเล่นตำแหน่งที่ดูแรงตั้งแต่คาแรกเตอร์ นั่นคือการเป็นโสเภณีผู้ทำหน้าที่ไปยั่วผัวชาวบ้าน ซึ่งถ้าไม่นับรวมการที่ต้องเปลือยกายเข้าฉากโชว์สัดส่วนเรือนร่าง ก็ยังมีฉากที่เธอต้องเข้าฉากอีโรติกกับดารารุ่นแม่อย่างจูลีแอนน์ มัวร์ นั่นอีก พูดมาถึงความอีโรติก เพื่อนๆ น้องๆ ผู้หญิงหลายคนถามผมด้วยความอยากรู้ว่าหนังเรื่องนี้อีโรติกมากไหม อันดับแรก ผมคิดว่าคงต้องขอบใจระบบเรตติ้งเขาล่ะครับที่ทำให้ฉากต่างๆ ในหนังยังคงอยู่อย่างที่ผู้กำกับเขาทำมา อย่างไรก็ตาม ถ้าถามผมจริงๆ ว่า เลิฟซีนของหนังเรื่องนี้เป็นยังไง ก็ตอบได้เลยว่า ถ้าไม่รวมเมคเลิฟระหว่างผู้หญิงต่างวัยทั้งสองนั้นแล้ว ที่เหลือก็แทบจะไม่มีฉากโจ๋งครึ่มอื่นใดเลยที่แรงไปกว่านั้น แน่นอนล่ะ สำหรับ “อะตอม อีโกยัน” ที่คุ้นเคยกับการทำหนังซึ่งมีฉากเซ็กซ์ๆ เอ็กซ์ๆ (ไม่ว่าจะเป็น Exotica หรือแม้แต่ Where the Truth Lies) การจะใส่ “ฉากอย่างว่า” เข้าไปในหนังมากมายแค่ไหน มันไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ก็อย่างที่บอก นอกจากฉากบนเตียงของสองหญิงนั้นแล้ว ที่เหลือก็ไม่มีอะไร (แต่หลายๆ คนอาจจะบอกว่า เพียงแค่นั้นก็เยอะแล้วล่ะ) และเหนืออื่นใด แทนการโชว์ฉากเมคเลิฟโจ๋งครึ่มเยอะๆ ผมคิดว่าอะตอม อีโกยัน กำลังสนุกในการเล่นกับ “จินตนาการเชิงอีโรติก” ของคนดูมากกว่า ยังไงน่ะหรือ? เราจะเห็นครับว่า ทั้งๆ ที่หนังไม่เคยนำเสนอภาพการมีเซ็กซ์ระหว่างเธอ กับเดวิดให้เราได้เห็นเลย แต่หลังจากที่โคลอี้ไปปฏิบัติการในแต่ ละวันแล้วเธอต้องกลับมาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้แคทเธอรีนได้ รับรู้ “เรื่องเล่า” ของเธอ (ที่บรรยายถึงการประกอบกิจกับเดวิดอย่าง ละเอียด) นั้นกลับทำให้แคทเธอรีนหรือแม้แต่เราคนดู รู้สึกนึกคิดเกิดจินตนาการภาพขึ้นภายในใจโดยที่หนังไม่จำเป็นต้องเปลืองฟิล์ม ในการถ่ายทำ “ฉากแบบนั้น” เลยแม้แต่น้อย นี่คือศิลปะของการทำหนังอีโรติกแบบหนึ่งเลยล่ะครับ ผมว่า...มันคงคล้ายๆ กับตอนที่เราอ่านนิยายดีๆ อย่าง “จัน ดารา” ของอุษณา เพลิงธรรม แล้วความรู้สึกวาบหวามทั้งหมดทั้งมวลก็ดูเหมือนจะ ถูกผ่องถ่ายออกมาทางตัวหนังสือนั้นโดยไม่จำเป็นต้องมีภาพประกอบ แนบมาให้แต่อย่างใด ฉันใดก็ฉันนั้น หนังอีโรติกที่ดี อาจไม่จำเป็นต้องมีการนำเสนอภาพของเรือนร่างหรือการเสพสังวาส อย่างโจ่งแจ้งโจ๋งครึ่มเสมอไป แต่มันอยู่ที่ว่าจะทำให้คนดู “เกิดอารมณ์ร่วม” ได้อย่างไร นั่นต่างหากที่สำคัญ ผมเชื่อของผมเองว่า ขณะที่โคลอี้บอกเล่าถึงสิ่งที่เธอ และเดวิดกระทำร่วมกันนั้น คนดูส่วนใหญ่น่าจะนึกภาพตามไปกับถ้อยคำของ โคลอี้บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับแคทเธอรีนที่ จินตนาการวาดภาพตามคำพูดของโคลอี้ว่าเซ็กซ์ระหว่างเด็กสาวกับสามี ของเธอนั้นคงร้อนแรงเหลือหลาย ฉากที่แคทเธอรีนสำเร็จความใคร่ให้ตัวเองในห้องน้ำ โดยจินตนาการภาพของการมีเซ็กซ์ระหว่างเดวิดกับโคลอี้ไปด้วยนั้น สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงตัวตนของคนที่ตกอยู่ในวังวนแห่งความ ลุ่มหลงในเรื่องเล่า เสพติดการฟังเรื่องอีโรติกจากปากของเด็กสาว และนั่นก็กลายมาเป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้อะไรๆ ลุกลามบานปลายในแบบที่ยากต่อการจะกู้คืน... มองในภาพรวมทั้งหมด Chloe จัดเป็นงานที่มีองค์ประกอบ ของความเป็นหนังดีในทุกๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นบทภาพยนตร์ที่สมเหตุสมผล จับความสนใจอยากติดตามและอยากรู้ได้อยู่หมัดตั้งแต่ต้นจนจบ นักแสดงก็สมบทบาทกันดีทุกคน (แม้เลียม นีสัน จะทำให้เรานึกถึง Taken อยู่ตลอดเวลาและลุ้นๆ ว่าเฮียแกจะลุกขึ้นมาฟาดปากใครตอนไหนหรือไม่ ฮา) ขณะที่ส่วนของเนื้อหาก็จัดได้ว่าเข้มข้น ซึ่งสำหรับคนที่ชอบสนุกกับการตีความ หนังก็มีแง่มุมหลากหลายให้ขบคิด ไม่ว่าจะเป็น “อำนาจของเรื่องเล่า”, ความอ่อนไหวของใจคน ไปจนถึงแรงผลักของความรักที่พร้อมจะขับดันให้มนุษย์เราก่อเรื่องราว ที่เหลือเชื่อได้เสมอๆ โดยทิศทางของหนัง โคลอี้จัดอยู่ในหมวดหมู่ของหนังที่ เรียกกันว่า “ฟาม ฟาทาล” (Femme Fatale : หนังที่พูดถึงหญิงร้าย) อย่างเช่น Fatal Attraction, The Last Seduction หรือ Body Heat ฯลฯ แต่สิ่งที่ค่อนข้างให้ความรู้สึกแตกต่างออกไปจากหนังหญิงร้ายส่วน ใหญ่ก็คือ ความร้ายใน Chloe นั้นเป็นความร้ายในแบบที่เมื่อเราได้รับ ทราบแรงจูงใจอันแท้จริงของพฤติกรรมตัวละครแล้ว มันกลับทำให้เรา “ยอมรับได้” ในความร้ายนั้น และอาจถึงขั้นสงสารเห็นใจ เข้าทำนอง “ถึงร้ายก็รัก”... ไม่บ่อยนักหรอกครับที่จะมีหนังเนื้อหาดีๆ บทเจ๋งๆ แบบนี้มาให้เราได้ชมกัน แต่สำหรับหนุ่มๆ บางคนในออฟฟิศย่านถนนพระอาทิตย์ ผมได้ยินเขาพูดกันว่า หนังเรื่องนี้ แค่ไปดูน้องหนูอแมนดา ไซฟรี้ด ก็คุ้มนักคุ้มหนาแล้วกับค่าตั๋วร้อยกว่า บาท | | |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น