Google
 

02 พฤศจิกายน 2551

CHEVROLET VOLT : รถไฟฟ้าคันแรกของโลกพร้อมผลิตแล้ว

CHEVROLET VOLT : รถไฟฟ้าคันแรกของโลกพร้อมผลิตแล้ว
ชาร์จง่ายเพียงเสียบปลั๊ก ชาร์จไฟหนึ่งครั้งถูกกว่ากาแฟหนึ่งแก้ว
เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น (จีเอ็ม) ก้าวสู่ศตวรรษใหม่ ด้วยการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551 ตามเวลาท้องถิ่น เป็นการฉลองวันครบรอบ 100 ปี จีเอ็ม ด้วย เชฟโรเลต โวลต์ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า แบบ ปลั๊ก-อิน (Plug-in) ที่คนทั่วโลกเฝ้าติดตามการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ โวลต์สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ได้ในระยะทางมากกว่า 65 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางเฉลี่ยที่ผู้ขับขี่รถส่วนใหญ่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ปราศจากมลพิษอย่างสิ้นเชิง พร้อมทั้งยังสามารถใช้งานระยะทางยาวไกลขึ้นอีกหลายร้อยกิโลเมตร เมื่อใช้ควบคู่กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มากกว่าการคาดการณ์ไว้เมื่อครั้งที่โวลต์ยังเป็นรถต้นแบบ
การเปิดตัว เชฟวี่ โวลต์ รุ่นที่จะผลิตเพื่อการจำหน่ายในครั้งนี้ เป็นแนวทางสำคัญในการก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ของจีเอ็ม' มร.ริค แวกอเนอร์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงการเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นที่จะผลิตออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกของโลก
'โวลต์เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกอย่างชัดเจน ถึงแนวทางของจีเอ็มในอนาคต... และเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยียานยนต์ของเรา ที่ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อมที่เผชิญอยู่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต' มร. แวกอเนอร์ กล่าวอย่างมั่นใจ
การออกแบบ เชฟโรเลต โวลต์ ถูกถอดแบบมาจาก เชฟโรเลต โวลต์ ที่เป็นรถยนต์ต้นแบบและเคยเผยโฉมในงาน ดีทรอยท์ มอเตอร์โชว์ (NAIAS: North American International Auto Show) เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา
จากการออกแบบเพื่อลดแรงเสียดทานของอากาศ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้โวลต์สามารถใช้งานได้ในระยะทางที่ไกลมากขึ้น ทีมวิศวกรผู้ออกแบบของจีเอ็ม ได้สร้างสรรค์ระบบอากาศพลศาสตร์ที่ส่งผลอันยอดเยี่ยม สำหรับโวลต์รุ่นที่ผลิตออกจำหน่ายนี้ การออกแบบในหลายๆ จุด ได้รับการคัดสรรมาจาก โวลต์คันที่เป็นรถยนต์ต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของ กระจังหน้า รูปทรงที่ดูปราดเปรียวทะมัดทะแมง กราฟฟิคดีไซน์ที่ท้ายรถ กระจกมองหลัง และส่วนอื่นๆ อีกมากมาย
นอกจากนี้ แผงมาตรวัดของโวลต์ถูกออกแบบให้ดูโค้งมนกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของคอนโซลหน้า ตามมุมรถและกระจังหน้ารถถูกออกแบบให้ดูเรียวบาง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการลดแรงปะทะกับอากาศ ช่วยให้อากาศสามารถไหลผ่านรอบตัวรถ ไปได้อย่างรวดเร็ว ส่วนด้านท้ายรถ ถูกออกแบบให้มีสันขอบที่ชัดเจนดูดุดัน พร้อมทั้งออกแบบสปอยเลอร์อย่างประณีต เพื่อลดแรงเสียดทานอากาศเช่นกัน กระจกบังลมหน้า ก็ถูกออกแบบให้ลาดเอียงไปด้านหลังค่อนข้างมาก เพื่อช่วยลดการเคลื่อนที่อันไร้ทิศทางของกระแสลม ที่ผ่านกระทบตัวรถและลดการทอนกำลังจากแรงลมที่เข้ามาปะทะ
ด้วยการทำงานอย่างพิถีพิถันของทีมออกแบบระบบอากาศพลศาสตร์ของจีเอ็ม ในการกำหนดรูปทรงของโวลต์ จากทั้งทีมออกแบบและวิศวกร ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือรถยนต์ที่มีระบบอากาศพลศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีเอ็ม ทีมออกแบบ และวิศวกรของจีเอ็ม ทุ่มเทอย่างหนักหลายร้อยชั่วโมงกับการทดสอบ เชฟโรเลต โวลต์ ภายในอุโมงค์ลมของจีเอ็ม ผ่านการทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งตัวรถทั้งคันหรือชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งการปะทะลมที่ด้านหน้าตัวรถ ด้านท้ายรถ สปอยเลอร์หลัง ส่วนโค้งของหลังคา และกระจกมองข้าง และด้วยการออกแบบทางอากาศพลศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมนี้ ช่วยให้โวลต์สามารถวิ่งได้ในระยะทางที่มากถึงประมาณ 65 กิโลเมตรโดยไม่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการสันดาป และปลอดมลพิษอย่างสิ้นเชิง ตามมาตรฐานของ อีพีเอ (EPA: Environmental Protection Agency) หน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา ที่จะตรวจสอบ อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและวัดค่ามลพิษที่ออกจากรถยนต์
ภายในของ เชฟโรเลต โวลต์ ยังมีความกว้างขวาง ให้ความสบายในการโดยสาร พรั่งพร้อมด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และระบบความปลอดภัยที่สมบูรณ์แบบ ตามที่ลูกค้าคาดหวังว่าจะได้พบในรถยนต์ซีดานแบบ 4 ที่นั่ง และโวลต์ยังมีสีสันการออกแบบภายใน ให้ลูกค้าเลือกใช้อย่างหลากหลาย รวมทั้งเลือกการตกแต่งระบบไฟภายในตัวรถและสีสันในสไตล์ต่างๆ ที่มักจะไม่ค่อยได้พบเห็นทางเลือกมากมายเช่นนี้ ในรถยนต์ซีดานของเชฟโรเลต ปุ่มควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถยังถูกออกแบบอย่างล้ำสมัย วัสดุต่างๆ ได้รับการออกแบบให้ดูน่าสนใจน่าจับต้อง พร้อมด้วยหน้าจอมอนิเตอร์ 2 ตัว ที่แสดงข้อมูลการขับขี่ อยู่หลังพวงมาลัย และแสดงข้อมูลของรถ ติดตั้งไว้ที่คอนโซลกลาง ซึ่งมอนิเตอร์ที่คอนโซลกลางนี้ จะเป็นส่วนแสดงข้อมูลของรถ รวมทั้งควบคุมและแสดงผลการเล่นเครื่องเสียง อุปกรณ์อำนวยความสะดวกความบันเทิงต่างๆ สั่งงานด้วยระบบสัมผัส (touch-sensitive infotainment) ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีและการออกแบบที่ทันสมัยได้อย่างลงตัวนี้ ช่วยยกระดับให้การออกแบบภายในของโวลต์ แตกต่างเหนือจากรถยนต์รุ่นอื่นๆ ในตลาด
เทคโนโลยีภายในห้องโดยสารที่โดดเด่นของโวลต์
ส่วนแสดงข้อมูลการขับขี่ผ่านหน้าจอแอลซีดี แทนที่จะเป็นกรอบมาตรวัดต่างๆ เหมือนรถยนต์ทั่วไป ที่คอนโซลกลางยังติดตั้งมอนิเตอร์ระบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในการแสดงข้อมูลต่างๆ ของโวลต์ ปรับอุณหภูมิในห้องโดยสารและควบคุมอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ความบันเทิง ด้วยระบบสัมผัส

สามารถเพิ่มเติมการติดตั้งระบบนำทางผ่านสัญญาณดาวเทียมบนฮาร์ดไดร์ฟ (hard drive) ที่ติดตั้งซ่อนไว้ในคอนโซลกลาง โดยสามารถใส่ข้อมูลแผนที่ หรือเป็นไดร์ฟสำหรับเก็บไฟล์เพลงต่างๆ ติดตั้งบลูทูธ (Bluetooth hand free) สำหรับพูดคุยโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และยังรองรับการเชื่อมต่อ อุปกรณ์พกพาอย่าง ยูเอสบี (USB removable drive) และอุปกรณ์บลูทูธ สำหรับการโหลดเพลง เล่นเพลง ที่อยู่ในไดร์ฟพกพาเหล่านี้อีกด้วย

เชฟโรเลต โวลต์ กลายเป็นรถยนต์ที่มาพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของพลังงานไฟฟ้าที่นำมาใช้กับรถยนต์ ด้วยการยกระดับตัวเอง ให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่สามารถใช้งานได้เป็นระยะทางไกลมากขึ้น (E-REV: Extended-Range Electric Vehicle)

โวลต์สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนล้ออยู่ตลอดเวลา และทุกย่านความเร็ว โดยสามารถใช้พลังงานไฟฟ้า จากแบตเตอรี ลิเธียม-ไอออน (lithium-ion) วิ่งได้เป็นระยะทางประมาณ 65 กิโลเมตร และเมื่อไรก็ตามที่พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรีหมดลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง E85 จะส่งกระแสไฟไปยังระบบขับเคลื่อนของโวลต์อย่างราบรื่น ในระหว่างนั้นก็จะชาร์จไฟเข้าไปเก็บในแบตเตอรีไปพร้อมๆ กันอีกด้วย ด้วยระบบนี้จะทำให้โวลต์ สามารถใช้งานได้เป็นระยะทางมากขึ้นอีกหลายร้อยกิโลเมตร จนกว่าจะหาช่องเสียบปลั๊กไฟเพื่อชาร์จไฟเข้าไปเก็บในแบตเตอรี ลิเธียม-ไอออน อีกครั้ง เพื่อให้รถยนต์สามารถกลับมาใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรีได้อีก แบตเตอรี่ในโวลต์แตกต่างจากแบตเตอรี่ของรถพลังงานไฟฟ้ารุ่นอื่น ทำให้ผู้ขับขี่มั่นใจได้ว่า จะไม่พบกับปัญหาแบตเตอรี่หมดอย่างแน่นอน
เชฟโรเลต โวลต์ สามารถชาร์จพลังงานไฟฟ้าได้ด้วยการเสียบปลั๊กไฟเหมือนอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านที่ใช้ไฟ 120 โวลต์ทั่วไป หรือชาร์จไฟที่ 240 โวลต์ก็ได้ ด้วยเทคโนโลยีอันชาญฉลาดในการชาร์จไฟทำให้โวลต์สามารถชาร์จไฟฟ้าได้เต็มภายในเวลาน้อยกว่า 3 ชั่วโมง สำหรับกระแสไฟ 240 โวลต์ หากใช้กระแสไฟ 120 โวลต์จะใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง ซึ่งเวลาที่ใช้ในการชาร์จไฟนั้นยังอาจจะน้อยกว่านั้นถ้าใน แบตเตอรี ลิเธียม-ไอออน ยังมีปริมาณไฟฟ้าสะสมอยู่บ้าง สำหรับค่าใช้จ่ายในการใช้งานโวลต์จะอยู่ที่ประมาณ 27.20 บาท ต่อวัน (เมื่อคิดจากค่าไฟในสหรัฐอเมริกาที่ประมาณ 3.40 บาท ต่อ กิโลวัตต์ชั่วโมง) ในการชาร์จแบตเตอรีให้เต็ม จะสามารถใช้งานได้ประมาณ 65 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางเฉลี่ยที่ผู้ขับขี่รถส่วนใหญ่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจีเอ็มคาดว่าการชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้แก่โวลต์จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการซื้อกาแฟดื่มต่อถ้วยด้วยซ้ำ และการชาร์จไฟฟ้าให้กับ เชฟโรเลต โวลต์ 1 ครั้งต่อวันในทุกวันตลอดปีนั้น จะใช้ปริมาณไฟฟ้าที่น้อยกว่าการใช้ไฟของตู้เย็นหรือตู้แช่หนึ่งตู้เสียอีก

สมรรถนะการขับขี่ของเชฟโรเลต โวลต์ แรงเหนือชั้นด้วยแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน จำนวน 220 เซลส์ ให้พละกำลังขับเคลื่อน 150 แรงม้า แรงบิด 370 นิวตัน-เมตร ความเร็วสูงสุดทะยานไปได้ถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากจะให้ความเร้าใจในการขับขี่แล้ว ความเงียบของเครื่องยนต์ในการขับขี่ เป็นจุดเด่นที่สุดของโวลต์ ทำให้ห้องโดยสารมีเสียงรบกวนเล็ดลอดเข้ามาน้อยที่สุด
จากการประเมินของจีเอ็ม ค่าใช้จ่ายในการขับขี่โวลต์อยู่ที่เีพียง 0.43 บาทต่อกิโลเมตร ถูกกว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งอยู่ที่ 2.55 บาทต่อกิโลเมตร (คิดตามราคาน้ำมันในสหรัฐที่ แกลลอนละ 3.60 ดอลลาร์) หากคำนวนจากการใช้รถยนต์เฉลี่ย 65 กิโลเมตรต่อวัน หรือ 24,750 กิโลเมตรต่อปี ผู้ขับขี่ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 51,000 บาท ต่อปี และถ้าหากใช้รถยนต์ในโหมดที่เป็นไฟฟ้าให้ได้มากที่สุดนั้น เชฟวี่ โวลต์ จะใช้ค่าใช้จ่ายเพียง 1 ใน 6 เท่าเมื่อเทียบกับรถที่ใช้น้ำมันทั่วไป นอกจากนี้ ถ้าเลือกชาร์จไฟให้กับโวลต์ในช่วงเวลาที่มีคนใ้ช้ไฟน้อย ค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าไฟ ก็จะถูกลงด้วยเพราะค่าไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวจะถูกกว่าในเวลาปกติ

เชฟโรเลต โวลต์ จะขึ้นสายการผลิตที่โรงงานดีทรอยท์-แฮมแทรค (Detroit-Hamtramck) และจะออกสู่ตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปี 2553 โดยยังไม่มีการกำหนดราคาค่าตัวออกมา ทั้งนี้ การผลิต เชฟโรเลต โวลต์ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายและแนวทางของรัฐบาลด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมคลิกเข้าไปได้ที่ media.gm.com/volt ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: